คณะวิทย์ ม.มหิดล นำเสนอผลงานผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ในการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อตกลงการปฏิบัติงานของส่วนงาน (PA-Visit) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

           10 พฤศจิกายน 2566 ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงาน และบุคลากร คณะวิทยาศาสตร์ ภายในคณะ ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าหน้าที่กองแผนงาน ใน การติดตามผลการดำเนินงานตามข้อตกลงการปฏิบัติงานของส่วนงาน (PA-Visit) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับฟังผลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะจากมหาวิทยาลัย ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ รายงานการดำเนินงาน ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาสากล บ่มเพาะผู้ประกอบการ การวิจัยระดับ World Class ความรู้เพื่อมนุษยชาติ นวัตกรรมเพื่อประเทศ และองค์กรแห่งความยั่งยืน ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์อย่างบูรณาการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตั้งเป้าจะมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในการผลิตและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ สร้างนวัตกรรมจากองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 4 ปี คณะวิทยาศาสตร์มี ผลการดำเนินงานที่โดดเด่น หลายด้าน เช่น ด้าน การวิจัยระดับ World Class จากปี พ.ศ. 2562 คณะมี ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ใน วารสารระดับ Q1 กว่าร้อยละ 66 แสดงให้เห็นถึงคุณภาพผลงานวิจัยที่สูงขึ้น และมีการ บริการวิชาการให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 274 โครงการ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพภายในคณะวิทยาศาสตร์กว่า 23 ทีม จาก 72 ทีม คิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนสตาร์ทอัพทั้งหมดในมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนั้นคณะวิทยาศาสตร์ยังส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรผ่าน โครงการ Sandbox สนับสนุนการขอตำแหน่งของบุคลากรสายวิชาการ และโครงการพัฒนาทักษะของบุคลากรสายสนับสนุน ยกระดับการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินงานภายในคณะด้วยระบบดิจิทัล ปรับปรุงด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของคณะโดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs ) รวมถึงสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมผ่านโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย

หลังจากการรายงาน รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ และทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ร่วมกับคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมกล่าวขอขอบคุณคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ และบุคลากรทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจนำพาคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันตลอดมา

จากนั้น ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี ได้กล่าวถึงโครงการ Sandbox สนับสนุนการขอตำแหน่งของบุคลากรสายวิชาการ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะนำร่องที่ได้รับมอบอำนาจการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยในการพิจารณาการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการขอตำแหน่งของบุคลากรสายวิชาการ ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมหาวิทยาลัยจะขยายผลโครงการนี้ต่อไป ก่อนกล่าวปิดท้ายว่า ขอขอบคุณคณะผู้บริหารที่ผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม พร้อมย้ำว่า คณะวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนขุมพลังที่สำคัญในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ด้าน Global Research and Innovation ให้มหาวิทยาลัยนำหน้าเรื่องการวิจัย รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://science.mahidol.ac.th/news/nov66-10/

Solverwp- WordPress Theme and Plugin